กินเจนั้นช่วยปรับสมดุลร่างกายตามศาสตร์แพทย์แผนไทย 

      เทศกาลกินเจ เป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่ชาวไทย โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีนให้ความสำคัญ โดยมีความเชื่อว่า การงดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ เป็นการไม่เบียดเบียนชีวิต และเป็นการทำบุญเพื่อชำระล้างใจ ทำให้จิตใจเบิกบานเป็นสุข โดย นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ของการกินเจ ในมุมมองของศาสตร์การแพทย์แผนไทย ดังนี้

ประโยชน์ของการกินเจ ต่อสุขภาพกาย

นอกเหนือจากเรื่องความสุขทางใจ การกินเจโดยเลือกบริโภคอาหารที่เหมาะสมกับสุขภาพและช่วงวัย สามารถช่วยปรับสมดุลร่างกาย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ อีกด้วย 

ธาตุเจ้าเรือน ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย กับการกินเจ

ธาตุเจ้าเรือนมนุษย์เรา สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ธาตุ คือ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งหากเกิดการเจ็บป่วยมักใช้วิธีปรับสมดุลธาตุทั้ง 4 โดยหนึ่งในวิธีในการปรับสมดุลธาตุที่สำคัญในทางการแพทย์แผนไทย คือ การปรับการบริโภคอาหาร ดังนั้น เทศกาลกินเจนี้ หากนำหลักการดูแลตนเองด้วยการปรุงเมนูอาหารที่เหมาะสมกับสภาวะโรคและวัยของตนเอง เน้นความสดใหม่ และความสะอาดของอาหาร ไม่เน้น หวาน มัน เค็ม และรับประทานอาหารแต่พอดี จะสามารถช่วยให้ร่างกายสมดุลและแข็งแรงได้

เราจะรู้ธาตุเจ้าเรือนของเราได้อย่างไร

เราสามารถเช็กธาตุเจ้าเรือนของเราได้ โดยดูจากวันเดือนปีเกิด และเวลาตกฟาก อย่างละเอียด แต่หากจะดูแลสุขภาพในเบื้องต้น อาจเช็กธาตุเจ้าเรือนของเราจากเดือนเกิดง่าย ๆ ดังนี้

  • ธาตุดิน (ตุลาคม – ธันวาคม): มักมีร่างกายแข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บป่วย ยกเว้นผู้ที่มีโรคทางพันธุกรรม คนกลุ่มนี้ สามารถรับประทานอาหารได้ทุกรส ฝาด หวาน มัน เค็ม เจปีนี้จึงควรรับประทานอาหารแต่พอดี
  • ธาตุน้ำ (กรกฎาคม – กันยายน): มักเจ็บป่วยด้วยหวัด เจ็บคอ และมีเสมหะง่าย ควรปรับสมดุลธาตุด้วยการเน้นรับประทานสมุนไพรรสเปรี้ยวและรสขม โดยสมุนไพรรสเปรี้ยว จะช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ ช่วยระบายท้อง เช่น ยอดมะขาม มะนาว ผักติ้ว ใบชะมวง ส่วนสมุนไพรรสขมช่วยลดไข้ เช่น มะเขือพวง ฝักเพกา ดอกขี้เหล็ก ยอดมะเฟือง สะเดา
  • ธาตุลม (เมษายน – มิถุนายน): มักมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ วิงเวียนศีรษะ และปวดเมื่อยได้ง่าย ควรปรับสมดุลธาตุด้วยการเน้นรับประทานสมุนไพรรสเผ็ดร้อน เพราะช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ กระตุ้นเลือดลมให้ไหลเวียน เช่น ข่า ตะไคร้ แมงลัก กะเพรา โหระพา พริกไทย
  • ธาตุไฟ (มกราคม – มีนาคม): มักเป็นไข้ตัวร้อน เป็นแผลร้อนใน เป็นสิว ผิวหนังอักเสบ นอนไม่ค่อยหลับ อารมณ์แปรปรวน ควรปรับสมดุลธาตุด้วยการเน้นรับประทานอาหารที่มีสมุนไพรรสขม จืด เย็น จะช่วยแก้ไข้ ลดความร้อนภายในร่างกาย ช่วยให้นอนหลับสบาย และลดการอักเสบของผิวหนัง เช่น มะระ ขี้เหล็ก สะเดา ฟัก แฟง ตำลึง ผักบุ้ง แตงกวา เป็นต้น    

ประยุกต์สมุนไพร เป็นเครื่องดื่มในชีวิตประจำวัน

นพ.ขวัญชัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อรู้หลักการดังกล่าวแล้ว ก็นำมาประยุกต์ใช้ในการทำอาหาร หรือเครื่องดื่มสมุนไพรที่เหมาะสมกับตนเองและคนในครอบครัว โดยเน้นอาหารเส้นใยสูงอย่างธัญพืช ผัก ผลไม้ คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวไม่ขัดสี ข้าวกล้อง อาหารไขมันต่ำ และเต้าหู้ ตลอดเทศกาลกินเจ

ช่วงกินเจ ต้องงดบริโภคอะไรบ้าง

นอกเหนือจากเนื้อสัตว์แล้ว ยังมีพืชผักสมุนไพรที่มีกลิ่นฉุน ได้แก่ กระเทียม หอมใหญ่แดง/ขาว ต้นหอม กุยช่าย หลักเกียว (ผักของจีนมีลักษณะเหมือนกระเทียมโทน) และใบยาสูบ ให้งดเว้นไปก่อน และการปรุงอาหารควรปรุงแต่งรสอาหารให้น้อยที่สุด เพื่อให้คุณค่าทางอาหารและรสชาติยังคงอยู่แบบครบถ้วน และยังช่วยลดสารพิษตกค้างในร่างกาย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *